เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวต้อนรับ แพทย์หญิง เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการระดับชาตินเรศวรวิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ 20 ภายใต้หัวข้อ Innovation and Technology for Sustainable Society และผู้เข้าร่วมงานทั้งจากภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ นักวิจัย และนิสิตนักศึกษาจากทั่วประเทศ โดยกล่าวว่า มหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นศูนย์กลางทางการศึกษาในเขตภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนของประเทศ โดยมีการเรียนการสอนครอบคลุมทุกสาขาวิชา และมุ่งมั่นสร้างงานวิจัยชั้นแนวหน้าที่มีความหลากหลายตามศักยภาพของนักวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคและประเทศ โดยเน้นที่กลไก University Enterprise Collaboration และ International Linkage เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศและสังคม โดยเน้นความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ที่จะส่งผลให้สังคมมีความก้าวหน้า และเสริมสร้างความมั่นคงของเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งในปีนี้นับเป็นปีที่ 34 ของมหาวิทยาลัย

     แพทย์หญิง เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประธานในพิธีเปิด กล่าวถึงการประชุมวิชาการระดับชาตินเรศวรวิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ 20 ว่า จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอผลงานวิจัยของคณาจารย์ และนักศึกษาทั้งจากภายในและภายนอกสถาบัน และเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิชาการของคณาจารย์ นักศึกษา และนักวิจัย รวมทั้งภาคเอกชน อันจะนำไปสู่การพัฒนาผลงานวิจัยให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งนับเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้สำหรับการเรียนการสอน และการนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดในด้านต่าง ๆ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมา สถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยมีความพยายามในการพัฒนาและปรับตัว เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกที่ส่งผลต่อการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ทั้งในภาพรวมของประเทศและรายสถาบัน เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคของ Digital Disruption และ AI ที่เข้ามาสู่สังคมโลก และสังคมไทยอย่างรวดเร็ว เพื่อความอยู่รอด และได้รับการยอมรับในระดับแนวหน้า สถาบันการศึกษาต้องเร่งปรับปรุงพัฒนาองค์ความรู้ รวมไปถึงการศึกษาวิจัยที่ต้องคาดการณ์โลกอนาคต เพื่อให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีทิศทาง เกิดความคุ้มค่า และมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อสร้างนวัตกรรมในทุกมิติ ให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกับการพัฒนาประเทศ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ

     ศาสตราจารย์ ดร.กรกนก อิงคนินันท์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมวิชาการครั้งนี้ มีกิจกรรมหลักๆ ประกอบด้วย การนำเสนอผลงานวิจัยและผลงานวิทยานิพนธ์ จากกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ กลุ่มวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และกลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิร่วมแสดงปาฐกถาพิเศษ บรรยายพิเศษ และเสวนาพิเศษ ประกอบด้วย

  1. ปาฐกถาพิเศษเชิงนโยบาย “Innovation and Technology for Sustainable Society” โดย แพทย์หญิง เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
  2. Special Talk “Nano-Carbons Innovation toward Circular Carbon Economy” โดย Special Emeritus Professor Morinobu Endo จาก Shinshu University, Japan
  3. เสวนาพิเศษ “นวัตกรรมและเทคโนโลยี : โอกาสและความท้าทายไทยกับการเปลี่ยนแปลงแห่งอนาคตสู่ความยั่งยืน”
  4. เสวนา “พิษณุโลกกับการเป็นศูนย์กลาง Wellness ในภูมิภาคภาคเหนือตอนล่าง”

     การมอบรางวัลด้านการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเป็นการเชิดชูให้เกียรติ สร้างขวัญกำลังใจ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่ โดยมีรางวัล ดังนี้

  1. รางวัลเชิดชูเกียรติด้านการวิจัยมหาวิทยาลัยนเรศวร ประจำปี พ.ศ. 2567
  2. โล่ยกย่องเชิดชูเกียรตินักวิจัยผู้ได้รับรางวัลการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับชาติ
    และนานาชาติ ประจำปี พ.ศ. 2567
  3. รางวัลผลงานวิจัยด้านการพัฒนาสังคมที่มีผลกระทบต่อสังคม ชุมชน และพื้นที่อย่างโดดเด่น : รางวัลแพทย์หญิง ปิยะชนก อึ้งภากรณ์
  4. รางวัลการนำเสนอผลงานวิจัยดีเด่น

     การจัดงานในปีนี้มีการประชุมวิชาการ ที่ร่วมจัดงานนี้ขึ้นพร้อมกัน คือ การประชุมวิชาการดินและปุ๋ยแห่งชาติ ครั้งที่ 8 โดยสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย และคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร และ การประชุมวิชาการเครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย ครั้งที่ 2 โดยเครือข่ายพัฒนาเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย

« ของ 3 »

Loading